วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อความยั่งยืน

การพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อความยั่งยืน

การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อความยั่งยืน จะต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการไปตามยุคตามสมัย นักนิเทศที่ดีจะต้องศึกษาบทบาทหน้าที่ทั้งของตนเองและบทบาทของผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ในบริบทของสถานศึกษาที่จะไปนิเทศ ติดตาม ในการดำเนินงานของสถานศึกษานั้นๆ  การพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาจะให้เกิดความยั่งยืนทุกฝ่ายจะต้องให้ความร่วมมือเป็นเอกภาพ โดยมีความเอาใจใส่เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อน ไม่ยึดติดกับตัวบุคคล หรือสถานที่ เวลา  จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องให้ความสำคัญ
การนิเทศ ติดตาม ระบบประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อความยั่งยืน เริ่มจากการสอบถาม สัมภาษณ์
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียของสถานศึกษานั้นๆ  ว่ามีความต้องการให้สถานศึกษาดำเนินงานไปในทิศทางใด เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียได้ร่วมกันประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อน แต่ผลที่จะเกิดขึ้นในสถานศึกษาจะต้องส่งผลการพัฒนาทั้งคุณภาพการศึกษาสู่สถานศึกษา ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนมีผลการเรียนที่สูงขึ้น
          การนิเทศระบบประกันคุณภาพการศึกษา
               การนิเทศการศึกษาเป็นการศึกษาแขนงหนึ่งที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ในการดำเนินงาน  การเป็นศาสตร์นั้น การนิเทศการศึกษามาจากเหตุและผล โดยใช้หลักการแนวคิด ทฤษฏีที่ผ่านการพิสูจน์จนเป็นที่ยอมรับแล้วมาใช้แก้ปัญหานั้น ๆ ได้ วิธีการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา การนิเทศการศึกษาต้องอาศัยความรู้  ทักษะ  ประสบการณ์  กระบวนการ  วิธีการหลาย ๆอย่างประกอบกันทั้งด้านจังหวะ  เวลา   กาลเทศะ  สิ่งแวดล้อม  ประกอบเข้าด้วยกันจึงทำให้การนิเทศประสบผลสำเร็จ  การนิเทศการศึกษาจึงเป็นบทบาทที่สำคัญยิ่งที่ผู้บริหารสถานศึกษาต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องกัน
               การนิเทศติดตามเป็นขั้นตอนหนึ่งและเป็นขั้นตอนสำคัญในการบริหารงานการนิเทศจะช่วยแก้ไขปรับปรุงส่วนที่บกพร่องให้มีการพัฒนา  ผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับครู นักเรียนจึงย่อมทราบปัญหาต่าง ๆ ได้ดีกว่าคนภายนอก  เพราะฉะนั้นการนิเทศภายในโรงเรียนจะสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของบุคลากรในโรงเรียนได้อย่างดี
                บุคคลที่ทำหน้าที่นิเทศ เรียกว่า Supervision ภารกิจหรือหน้าที่ของผู้นิเทศ คือ ให้การนิเทศ หรือ Supervise ได้แก่ การช่วยเหลือ แนะนำ ชี้แจง ปรับปรุง เพื่อช่วยให้บุคลากรภายใต้ความรับผิดชอบแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว หรือกำลังเผชิญอยู่ให้ลุล่วงไปด้วยดี รวมทั้งพัฒนางานที่บุคลากรกำลังปฏิบัติอยู่ ให้มีวิธีที่เหมาะสม มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น
นักการศึกษาหลายท่านทั้งนักการศึกษาของไทยและต่างประเทศให้ความหมายของการนิเทศการศึกษาไว้หลายแนวคิด  ที่น่าสนใจและนำมาศึกษามีดังนี้

             สมบัติ   จันทรเกษม ( 2534 ) ให้ความหมายไว้ว่า การนิเทศ ( supervision ) แปลว่า  การให้คำช่วยเหลือ  แนะนำ  หรือปรับปรุง สอดคล้องกับความหมายของ  เมตต์  เมตต์การุณจิต ( 2543 )ที่กล่าวว่าการนิเทศคือการให้คำปรึกษาแนะนำและให้ความช่วยเหลือต่อกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อปรับปรุงให้ได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
              สาย   ภาณุรัตน์ (2517 : 25)   กล่าวไว้ว่า    การนิเทศการศึกษาคือการช่วยเหลือให้ครูเติบโต พึ่งตนเองได้  แล้วนำผู้ที่พึ่งตนเองได้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคม  นั่นคือการนิเทศเพื่อไม่ต้องนิเทศ
                สงัด   อุทรานันท์ (2529 : 7)    ให้ความหมายไว้ว่า การนิเทศการศึกษาคือกระบวนการทำงานร่วมกับครูและบุคลากรทางการศึกษา      เพื่อให้ได้มาซึ่งสัมฤทธิ์ผลสูงสุดในการเรียนของนักเรียน
                สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2540 : 1)     นิยามความหมายไว้ว่าการนิเทศการศึกษาคือการที่ผู้นิเทศใช้กระบวนการ กระตุ้น  ยั่วยุ  ท้าทาย  ริเริ่ม ร่วมคิด ร่วมทำ สนับสนุนให้มีการพัฒนาคุณภาพของนักเรียนตามความจำเป็นของการพัฒนาโดยผ่านครูและผู้บริหารโรงเรียน
                ไวลส์ (Wiles. 1967 : 6) ให้ความเห็นไว้ว่า      การนิเทศการศึกษาเป็นความช่วยเหลือในการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ดีขึ้น         ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของ เอลสบรี (Elsbree. 1967 : 139) ที่ให้ความหมายของการนิเทศการศึกษาไว้ว่า การนิเทศการศึกษาคือกระบวนการปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น

                จากความหมายของการนิเทศการศึกษาดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่า  มีความแตกต่างกันและไม่มีข้อจำกัดที่แน่นอนตายตัว      ขึ้นอยู่กับวิวัฒนาการของการศึกษา   จุดมุ่งหมายและแนวทางการจัดการศึกษาในแต่ละยุคแต่ละสมัยแต่ก็สรุปได้ว่าการนิเทศการศึกษาคือกระบวนการในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างผู้นิเทศกับผู้รับการนิเทศเป็นความพยายามที่จะให้คำปรึกษาแนะนำ ช่วยเหลือ เกี่ยวกับการปรับปรุงการปฏิบัติงานด้านการเรียนการสอนของครูให้ดีขึ้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น